V.M.C 2500
เจาะเวลากับบอริส V.M.C 2500 รายละเอียด บทวิเคราะห์ ทำไมรถกระบะของไทยไม่ประสบความสำเร็จ?
V.M.C (วีเอ็มซี) ชื่อนี้ กลุ่มผู้ที่ชื่นชอบรถยนต์ก็น่าจะเคยได้ยินมาบ้าง ไม่ว่าจะผู้อาวุโสที่เคยเห็นมันตอนเปิดตัว หรือจะหนุ่มสาวที่ได้ยินเรื่องราวมักจะเล่าต่อ ๆ กันไปว่า “ไทยเคยสร้างรถเป็นของตัวเอง ยี่ห้อ V.M.C แรงกว่า ทนกว่ารถกระบะยี่ห้ออื่น แต่ล้มเหลวเพราะนู่นนี่นั่น ฯลฯ น่าเสียดายถ้าได้การสนับสนุนเราอาจมีรถแบรนด์ไทย ประสบความสำเร็จขายไปทั่วโลก”
แต่เช่นเดียวกับการเล่าเรื่องของคนสูงวัย ถ้าหากคุณรู้จักตั้งคำถามสักเล็กน้อย คุณจะรู้ว่าเรื่องราวที่จำต่อกันมามันแฝงเอาไว้ด้วยอคติและการใส่สีเติมแต่งให้เกินไปกว่าความเป็นจริง หรือน้อยกว่าความเป็นจริง ตามแบบฉบับของผู้เล่า
วันนี้ บอริสจะพาท่านย้อนเวลากลับไปในช่วงยุครุ่งเรืองของประเทศไทย กลางยุค 1990 ที่ซึ่งดอกเบี้ยธนาคารสูงกว่า 10% ไม่มี PM2.5 และเพลงดนตรีไพเราะทุกเพลง ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปได้ แม้กระทั่งแบรนด์รถยนต์ของไทยที่ใครก็รอคอย
รถกระบะ V.M.C รายละเอียดที่ทุกท่านน่าจะทราบแล้ว
รถกระบะ V.M.C เปิดตัวสู่สายตาชาวไทยในปี 1995 โดยบริษัท สยาม วี.เอ็ม.ซี.ยานยนต์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งโดยการร่วมทุนของผู้ผลิตอะไหล่รถยนต์หลายราย โดยมีแม่หลักคือผู้ผลิตกระจกยานยนต์ V.M.C Safety Glass ที่ในปัจจุบันก็ยังทำกิจการอยู่ และยังคงมีรถกระบะ V.M.C เก็บไว้อยู่ในบริษัทสำหรับผู้ที่อาจจะสนใจอยากเห็นคันจริง ไปติดต่อขอชมกันเองนะครับ
รถกระบะ V.M.C ใช้พื้นฐานแชสซีแบบ Body-on-frame โดยแชสซีเป็นแบบเหล็กกล่อง ช่วงล่างด้านหน้าแบบ Double Wishbone สปริงแบบ Torsion Bar และช่วงล่างหลังคานแข็งบนแหนบ หน้าดิสก์เบรก หลังดรัมเบรก โดยพื้นฐานแล้วนี้ไม่มีความแปลกและแตกต่างจากรถกระบะทั่วไปในยุคสมัยนั้น
เครื่องยนต์เป็นแบบชนิด VM Motori VM425 รูปแบบ 4 สูบ ขนาด 2.5 ลิตร เชื้อเพลิงดีเซล พ่วงด้วยเทอร์โบชาร์จเจอร์ สร้างพละกำลังสูงสุด 117 แรงม้าที่ 4,200 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 235 นิวตันเมตร ที่ 2,200 รอบต่อนาที ส่งกำลังผ่านระบบเกียร์ธรรมดาของ Graziano 5 จังหวะ
ในเมื่อทราบข้อมูลพื้นฐานจากการอ่านโบรชัวร์เช่นนี้แล้ว เรามาพูดถึงเรื่องน่าสนใจกว่ากันบ้าง
ถ้าคุณเชื่อบทความที่ถูกลอกส่งต่อกันไปเรื่อย คุณอาจจะคิดว่ากระบะ V.M.C บินได้
บอริสมีการบ้านให้ท่านทำ ท่านหยุดอ่านตรงนี้ก่อน แล้วเสิร์จกูเกิ้ลว่า “VM Motori 425OHV problem” แล้วลองดูผลลัพธ์ซัก 2-3 ชิ้นที่อยู่บนสุด
ที่ท่านควรจะทำเช่นนี้ เพราะท่านต้องเข้าใจว่า เครื่องยนต์ VM Motori 425OHV ที่ถูกนำมาใช้ใน V.M.C 2500 นั้น เป็นเครื่องที่มีปัญหามากมายในหมู่ผู้ใช้รถยนต์รุ่นอื่น ๆ ที่ใช้เครื่องยนต์ชนิดนี้
เป็นเรื่องที่ถูกต้อง ที่เครื่องยนต์ VM Motori ถูกใช้ในรถยนต์เก๋งรุ่นหรูอย่าง Alfa Romeo 164 (อัลฟ่า โรมีโอ 164) และรถ SUV อย่าง Jeep Cherokee (จี๊ป เชอโรกี) แต่นั่นก็ไม่อาจปกปิดความจริงที่ว่า ไม่ว่าจะเอาไปใส่ในรถอะไร เครื่องยนต์ตัวนี้ก็มีปัญหามากมายแม้ว่าจะวิ่งมาไม่ถึง 100,000 กิโลเมตรดี
ปัญหาหลัก ๆ นอกเหนือจากเจ้าระบบหัวฉีดอิเล็กทรอนิคที่ซับซ้อน ควบคุมด้วยระบบเร่งไฟฟ้า Drive-by-wire ซึ่งแน่นอนว่าสายเล่นรถอิตาเลี่ยน แค่ฟังก็สยองแล้ว ยังมีฝาสูบแบบแยก 4 หัว ซึ่งเพิ่มจุดต่อให้ปะเก็นแล่บจากแค่ 1 จุดเป็น 4 จุด อีกทั้งยังมีฝาสูบที่ผุง่ายมากจากวัสดุที่ไร้คุณภาพ
เมื่อบอริสเล่าเรื่องนี้ให้กับเพื่อนคนหนึ่งฟัง สิ่งที่เขาพูดตอบกลับมาก็คือ “อิตาลี่นี่มันจีนแดงแห่งยุโรปจริง ๆ”
และแน่นอนครับว่า เครื่องยนต์ VM Motori มีราคาอะไหล่แบบอิตาลี่ทั่วไปเช่นกัน หรือถ้าจะให้บอกชัด ๆ ก็คือ แพงหูฉีก และการเก็บสต๊อกอะไหล่ต่าง ๆ นั้น ลองคิดดูละกันครับว่าถ้าไปหาร้านอะไหล่ในต่างจังหวัดสักที แล้วขอซื้ออะไหล่ของเครื่องยนต์ “VM Motori 425 เครื่องรถหรูอิตาเลี่ยน” พนักงานในร้านจะตอบกลับมาอย่างไร
เราลืมกันไปแล้วหรือเปล่าว่า รถยนต์แต่ละชนิดนั้นมีจุดประสงค์ในการใช้งานที่แตกต่างกันไป? รถยนต์เก๋งเอาไว้ใช้โดยสารในความสะดวกสบาย รถยนต์สปอร์ตเอาไว้ใช้ขับขี่อย่างสนุก รถยนต์กระบะเอาไว้ใช้บรรทุกและขนของ
แน่นอนครับว่าบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก ย่อมพยายามที่จะทำให้การใช้งานสามารถเหลื่อมล้ำเข้าหากกันได้ เป็นเหตุผลทำให้รถกระบะสมัยนี้มีความนุ่มนวลและสะดวกสบายมากขึ้น
แต่สิ่งที่ละเลยไม่ได้ คือความทนทาน เพราะไม่ว่าท่านจะพยายามทำรถให้โดดเด่นนุ่มนวล วัสดุตกแต่งดีเสียเท่าไหร่ แต่ถ้ามันไว้ใจไม่ได้ว่าจะพาไปกินข้าวลิง และซ่อมแซมอย่างง่ายดาย รถกระบะคันนั้นมันก็ไม่มีประโยชน์อันใดเสียเลย
นอกเหนือจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องของงานผลิต ที่ซึ่งเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า บริษัท V.M.C ไม่ได้มีประสบการณ์ในการพัฒนาและผลิตรถยนต์อื่นใดมาก่อนหน้า เป็นเพียงผู้ผลิตอะไหล่เท่านั้น การพัฒนารถยนต์ทั้งคันไม่ใช่เรื่องง่าย มันคือการพัฒนาส่วนประกอบต่าง ๆ ทุกส่วนให้หลอมรวมกลายเป็นยานพาหนะที่ไม่ว่าใครต้องเข้าถึงได้
ผลลัพธ์ที่ได้ นอกเหนือจากพื้นฐานเครื่องยนต์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานแล้ว คุณภาพส่วนอื่น ๆ ของตัวรถ ก็ต่ำกว่ามาตรฐานตาม ๆ กันไปด้วย
ไม่ใช่เรื่องแปลกหรอกครับ เพราะบริษัทที่ใหญ่กว่านี้มากมาย ยังทำพลาดกันมาแล้วเลยครับ
คำถามที่ลึกไปกว่านั้น แล้วเราจำเป็นต้องมีแบรนด์รถยนต์ของไทยกันจริงหรือ?
แน่นอนว่าจากภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในปัจจุบัน แรงงานในทั้งภาคการผลิตและพัฒนาของไทยนั้น ก็มีคุณภาพดีพอที่จะทำให้บริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่หลายแห่งใช้เป็นฐานการผลิตรถยนต์กระบะ และรถยนต์เก๋ง
เพียงแค่ได้รับการกำกับ ดูแลจากนายใหญ่ต่างชาติ วิศวกรชาวไทยก็สามารถรังสรรค์ผลงานโดดเด่นจำนวนมากออกมาได้ หลายท่านทราบไหมละครับ ว่าไฟหน้าของ Toyota Fortuner (โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์) เป็นผลงานของวิศวกรชาวไทย (ซึ่งในปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่ Toyota แล้ว อยู่ค่ายไหนเดาเอาเอง!)
รัฐบาลไทย ส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมมาตั้งแต่การทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 ในยุค 1950 ผลลัพธ์ที่ตามมา คือการเริ่มต้นลงทุนจากบริษัทต่างชาติหลายเจ้ากันในยุค 1960 ก่อนที่จะพัฒนาให้เป็นมากกว่าแค่ฐานการผลิต แต่มีส่วนของศูนย์พัฒนาอยู่แทบทุกยี่ห้อ และสร้างงาน สร้างรายได้มหาศาลให้กับคนไทยตลอดมา
ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมยานยนต์สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยมากที่สุดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นทั้งหมด แม้ว่าเราจะไม่มีแบรนด์รถยนต์เป็นของตัวเองเลย
ในขณะเดียวกัน Proton (โปรตอน) ของมาเลเซีย ซึ่งเป็นแบรนด์ของตัวเอง ในประวัติอันยาวนานของพวกเขาก็ไม่ได้มีรถยนต์ที่พัฒนาเองล้วน ๆ มากเท่าไทยเสียด้วยซ้ำ สิ่งเดียวที่พวกเขามีคือชื่อของแบรนด์ซึ่งเกิดจากการสนับสนุนของรัฐที่ปิดกั้นไม่ให้รถยนต์คุณภาพดียี่ห้ออื่นมีที่ยืน จนคนมาเลเซียต้องทนซื้อ Mitsubishi Lancer Champ (มิตซูบิชิ แลนเซอร์ แชมป์) จนกระทั่งปี 2008
และถ้าหากคุณนึกไปถึงแบรนด์อย่าง Hyundai (ฮุนได) และ Kia (เกีย) ของเกาหลีใต้ ที่ประสบความสำเร็จขึ้นมาในยุค 1990 เราก็ต้องไม่ลืมว่า ไม่ว่าจะยุคใด เกาหลีใต้ก็มีศักยภาพและกำลังคนที่เหนือกว่าไทยมาโดยตลอด
รถคันแรกที่พัฒนาขึ้นมาในเกาหลีใต้ คือรถ Hyundai Pony (ฮุนได โพนี่) ซึ่งมาในปี 1975 และความแตกต่างของรถ Hyundai Pony กับกระบะ V.M.C ของไทย ก็คือการที่มันเป็นรถที่พัฒนาโดยได้บุคลากรจากบริษัทใหญ่ในอังกฤษมาช่วยเหลือ จึงสามารถใช้งานได้จริง นอกจากนั้นยังใช้เครื่องยนต์ของ Mitsubishi ที่มีความทนทานอีกด้วย
เราอาจจะเคยเห็นประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียตนาม ที่ทำรถยี่ห้อ Vinfast (วินฟาสต์) ออกมาวางจำหน่าย โดยใช้พื้นฐานของรถ BMW (บีเอ็มดับเบิ้ลยู) รุ่นก่อนหน้าไป 1 ยุค เครื่องยนต์ก็เป็นของ BMW และมันดูสวยงามน่าสนใจเป็นอย่างมาก และถ้าคุณจะเอามาเปรียบเทียบกับประเทศไทยในตอนนี้ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก เวียตนามทำได้ ทำไมไทยทำไม่ได้?
คำตอบก็คือ ไทยทำไปแล้วครับ พวกเราส่งออกรถไปทั่วโลกในจำนวนที่เยอะกว่าเวียตนามและมาเลเซีย สิ่งเดียวที่เรามีไม่เหมือนเขา ก็คือแบรนด์ของไทยเอง
นั่นคือทุกสิ่งอย่างที่เราต้องการ แบรนด์ที่จะทำให้เราภาคภูมิใจในความเป็นไทย
Proton ในปัจจุบันใช้พื้นฐานของ Geely และ Vinfast ก็ไม่มีรถที่ใช้พื้นฐานของตัวเองเลย ถ้าให้ผมเลือก ผมขอเลือกอุตสาหกรรมที่มีการสรรค์สร้างแบบไม่ได้ชื่อของตัวเอง มากกว่าอุตสาหกรรมที่มีแต่ชื่อแต่ไม่มีอะไรเป็นของตัวเองเลยดีกว่าครับ
แบรนด์รถยนต์ใหม่ ๆ ทั่วโลกที่เกิดขึ้นมานับตั้งแต่ยุค 1950 มีเป้าประสงค์เดียวคือการส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ ให้ติดตลาดและขายดีทั่วโลก มันคือหนทางการสร้างดุลการค้าที่ใหญ่โต
แต่การที่จะส่งรถออกไปขายทั่วโลกได้ ต้องเกิดจากมันสมองของคนหลายส่วนมาก และถ้าหากวางแผนไม่ดีพอ บริษัททุนไม่หนาพอ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คงหนีไม่พ้นการล้มละลาย หรือการถูกฮุบกิจการไปโดยบริษัทต่างชาติ
ถ้าเราอยากภาคภูมิใจในความเป็นไทยมากพอ การที่รถ Toyota Hilux (โตโยต้า ไฮลักซ์) ซึ่งถูกใช้ขับไปยังขั้วโลกเหนือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์นั้น ถูกผลิตขึ้นในประเทศไทย แค่นั้นยังไม่พออีกเหรอครับ? ก็คงจะใช่ ถ้าหากเรายึดติดอยู่แค่กับการที่รถคันนั้นติดแบรนด์ Toyota และไม่ใช่แบรนด์รถยนต์ของไทยเอง
สรุปสุดท้าย V.M.C สอนอะไรเรา?
รถกระบะ V.M.C ถ้าหากถามว่า เราควรจะภาคภูมิใจเจ้ากระบะเจ้าปัญหา ที่โผล่มาในปี 1995 แล้วก็ตายไปเพราะพิษเศรษฐกิจ 1997 นี่ไหม? หลายท่านอาจจะคิดว่าบอริสจะปฏิเสธ แต่แท้จริงแล้ว เราก็ควรจะภูมิใจอยู่บ้างครับ
เพราะรถกระบะ V.M.C แม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ มาผิดที่ ผิดเวลา ผิดจุดประสงค์ และใช้ชิ้นส่วนผิด แต่สิ่งหนึ่งที่รถในตำนานรุ่นนี้บอกกับเรา ก็คือ คนไทยนั้นมีศักยภาพมากพอที่จะรังสรรค์รถของตัวเองออกมาจริง ๆ เพราะอย่างไรก็ตามเราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันใช้พื้นฐานและชิ้นส่วนที่พัฒนาเองเกือบทั้งหมด
แค่น่าเสียดายไปนิด ที่สุดท้าย ศักยภาพอันสูงส่งนี้ของคนไทย ก็ต้องพึ่งพาเงินทุน การควบคุมกำกับดูแล และชื่อชั้นของต่างชาติให้ประสบความสำเร็จ
แต่สุดท้ายก็สำเร็จไม่ใช่หรือ? หรือคุณจะเถียงรถจำนวนกว่า 1 ล้านคันที่ถูกผลิตขึ้นมาในประเทศนี้ในปี 2020?
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น