ทำความรู้จัก “Short Sell” คืออะไร? หนทางฟันกำไรช่วงวิกฤติหุ้นตก
ทำความรู้จัก “SHORT SELL” คืออะไร? หนทางฟันกำไรช่วงวิกฤติหุ้นตก
Short Sell คืออะไร?
Short Sell (การขายชอร์ต) หมายถึงวิธีการลงทุนหรือการเทรดที่เก็งกำไรจากการลดลงของราคาหุ้นหรือหลักทรัพย์อื่น ๆ ถือเป็นกลยุทธ์ขั้นสูงที่เหมาะสำหรับเทรดเดอร์และนักลงทุนที่มีประสบการณ์เท่านั้น
เทรดเดอร์อาจใช้ Short Sell เพื่อการเก็งกำไร และนักลงทุนหรือผู้จัดการพอร์ตการลงทุนอาจใช้เป็นการป้องกันความเสี่ยงของสถานะ Long ในหลักทรัพย์เดียวกันหรือที่เกี่ยวข้อง การเก็งกำไรมาพร้อมกับความเสี่ยงสูง ส่วนการป้องกันความเสี่ยงถือเป็นธุรกรรมทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับการปิดสถานะ (Offset) เพื่อลดความเสี่ยง
ในการทำ Short Sell สถานะ (Position) จะถูกเปิดโดยการยืมหุ้นที่นักลงทุนเชื่อว่าจะมีมูลค่าลดลงในอนาคตที่กำหนดไว้ (วันหมดอายุ) จากนั้นนักลงทุนจะขายหุ้นที่ยืมมาให้กับผู้ซื้อที่เต็มใจจ่ายตามราคาปัจจุบัน ก่อนที่จะต้องคืนหุ้นที่ยืมมาในอนาคต ซึ่งเทรดเดอร์กำลังเดิมพันว่าราคาจะยังคงลดลงและสามารถซื้อคืนได้ในราคาที่ถูกลง ในทางทฤษฎีความเสี่ยงของการขาดทุนจาก Short Sell นั้นมีไม่จำกัด เนื่องจากราคาของสินทรัพย์ใด ๆ สามารถไต่ขึ้นไปได้ไม่สิ้นสุด
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Short Sell
Wimpy จากการ์ตูนเรื่อง Popeye น่าจะเป็นผู้ทำ Short Sell ที่สมบูรณ์แบบ ตัวละครนี้มีชื่อเสียงจากการพูดว่าเขา “ยินดีจะจ่ายเงินสำหรับแฮมเบอร์เกอร์วันนี้ในวันอังคารหน้า” ในการทำ Short Sell ผู้ขายจะเปิดสถานะโดยการยืมหุ้นซึ่งปกติจะมาจากนายหน้า (Broker-Dealer) จากนั้นจึงพยายามหาเงินจากการใช้หุ้นเหล่านั้นก่อนที่จะต้องส่งคืนให้กับผู้ที่ให้ยืม
ในการเปิดสถานะ Short เทรดเดอร์จะต้องมีบัญชีมาร์จิ้นและโดยปกติจะต้องจ่ายดอกเบี้ยตามมูลค่าของหุ้นที่ยืมมาในขณะที่สถานะเปิดอยู่ นอกจากนี้หน่วยงานกำกับดูแลอุตสาหกรรมการเงิน (Financial Industry Regulatory Authority, FINRA) ซึ่งบังคับใช้กฎและข้อบังคับที่ควบคุมโบรกเกอร์จดทะเบียนและบริษัท นายหน้าในสหรัฐอเมริกา ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) และธนาคารกลางสหรัฐ ได้กำหนดจำนวนเงินหลักประกันขั้นต่ำ (Maintenance Margin) ที่บัญชีมาร์จิ้นจะต้องมี หากมูลค่าบัญชีลดลงต่ำกว่าค่านี้ นักลงทุนจำเป็นต้องเติมเงินให้มากขึ้นไม่เช่นนั้นสถานะอาจถูกขายโดยโบรกเกอร์ได้
ในการปิดสถานะ Short เทรดเดอร์จะซื้อหุ้นในตลาดและส่งคืนให้กับผู้ให้ยืมหรือนายหน้าโดยหวังว่าจะได้ราคาต่ำกว่าที่พวกเขายืมมา ซึ่งต้องคำนึงถึงดอกเบี้ยที่เรียกเก็บโดยนายหน้าหรือค่าคอมมิชชั่นที่เรียกเก็บจากการซื้อขายด้วย
ขั้นตอนการค้นหาหุ้นที่สามารถยืมและส่งคืนได้เมื่อสิ้นสุดการซื้อขายจะถูกจัดการโดยนายหน้า การเปิดและปิดการซื้อขายสามารถทำได้ผ่านแพลตฟอร์มการซื้อขายปกติกับโบรกเกอร์ส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามโบรกเกอร์แต่ละรายจะกำหนดคุณสมบัติที่บัญชีซื้อขายต้องมีก่อนจึงจะอนุญาตให้ซื้อขายมาร์จิ้นได้
ดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ สาเหตุหลักประการหนึ่งของการทำ Short Sell คือการเก็งกำไร กลยุทธ์ระยะยาวทั่วไป (ซื้อหุ้น) สามารถจัดประเภทเป็นการลงทุนหรือการเก็งกำไรขึ้นอยู่กับสองตัวแปรคือ ระดับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นและระยะเวลาของการซื้อขาย การลงทุนส่วนใหญ่จะมีความเสี่ยงต่ำกว่าและโดยทั่วไปจะมีระยะเวลายาวนานครอบคลุมหลายปีหรือหลายทศวรรษ ส่วนการเก็งกำไรเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงกว่าอย่างมากและโดยทั่วไปแล้วจะมีช่วงเวลาสั้น ๆ
Short Sell แล้วได้กำไร
ลองนึกภาพเทรดเดอร์ที่เชื่อว่าหุ้น XYZ ซึ่งปัจจุบันซื้อขายอยู่ที่ 50 ดอลลาร์ จะมีราคาลดลงในสามเดือนข้างหน้า พวกเขายืมหุ้นจำนวน 100 หุ้นและขายให้กับนักลงทุนรายอื่น ตอนนี้เทรดเดอร์ “Short” 100 หุ้นเนื่องจากพวกเขาขายสิ่งที่พวกเขาไม่ได้เป็นเจ้าของแต่ยืมมา Short Sell ทำได้โดยการยืมหุ้นเท่านั้นซึ่งอาจไม่สามารถทำได้เสมอไปหากหุ้นนั้นอยู่ในช่วงที่ถูก Short จากเทรดเดอร์รายอื่นเป็นจำนวนมาก
หนึ่งสัปดาห์ต่อมา บริษัทดังกล่าวรายงานผลประกอบการทางการเงินที่ย่ำแย่ในไตรมาสนี้และราคาหุ้นตกลงไปที่ 40 ดอลลาร์ เทรดเดอร์ตัดสินใจที่จะปิดสถานะและซื้อ 100 หุ้นคืนในราคา 40 ดอลลาร์เพื่อแทนที่หุ้นที่ยืมมา กำไรของเทรดเดอร์จาก Short Sell ซึ่งไม่รวมค่าคอมมิชชั่นและดอกเบี้ยในบัญชีมาร์จิ้นคือ 1,000 ดอลลาร์ (50 – 40 = 10 x 100 หุ้น = 1,000)
Short Sell แล้วขาดทุน
จากสถานการณ์เดียวกันสมมติว่าเทรดเดอร์ไม่ได้ปิดสถานะ Short ที่ 40 ดอลลาร์ แต่ตัดสินใจที่จะเปิดไว้เพื่อใช้ประโยชน์จากราคาที่ลดลงต่อไป อย่างไรก็ตามมีคู่แข่งเข้าซื้อกิจการของบริษัทด้วยข้อเสนอการเทคโอเวอร์ที่ 65 ดอลลาร์ต่อหุ้น และราคาหุ้นก็ทะยานขึ้น หากเทรดเดอร์ตัดสินใจปิดสถานะ Short ที่ 65 ดอลลาร์ ผลขาดทุนจาก Short Sell จะอยู่ที่ 1,500 ดอลลาร์ (50 – 65 = -15 x 100 หุ้น = -1,500) เทรดเดอร์ต้องซื้อหุ้นคืนในราคาที่สูงขึ้นอย่างมากเพื่อปิดสถานะของพวกเขา
Short Sell เพื่อป้องกันความเสี่ยง
นอกเหนือจากการเก็งกำไรแล้ว Short Sell ยังมีจุดประสงค์ที่เป็นประโยชน์อีกอย่างหนึ่งนั่นคือการป้องกันความเสี่ยง ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นวิธีที่มีความเสี่ยงต่ำและน่านับถือกว่า วัตถุประสงค์หลักของการป้องกันความเสี่ยงคือการป้องกัน ซึ่งตรงข้ามกับการเก็งกำไร การป้องกันความเสี่ยงมีขึ้นเพื่อปกป้องผลกำไรหรือลดการสูญเสียในพอร์ตการลงทุน แต่ก็มาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่มากพอสมควร นักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่จึงไม่นิยมใช้ในช่วงเวลาปกติ
ต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงมีสองทาง คือ ค่าใช้จ่ายจริงในการป้องกันความเสี่ยง เช่น ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำ Short Sell หรือค่าพรีเมี่ยมสำหรับสัญญาออปชั่น นอกจากนั้นยังมีค่าเสียโอกาสเนื่องจากการจำกัดอัพไซด์ของพอร์ตการลงทุนหากตลาดยังคงขยับสูงขึ้น ตัวอย่างง่าย ๆ หาก 50% ของพอร์ตการลงทุนที่ใกล้เคียงกับดัชนี S&P 500 ถูกป้องกันความเสี่ยงและดัชนีขยับขึ้น 15% ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า พอร์ตการลงทุนจะรับรู้กำไรเพียงประมาณครึ่งหนึ่งหรือ 7.5% เท่านั้น
ข้อดีข้อเสียของการทำ Short Sell
ข้อดี
- ความเป็นไปได้ในการทำกำไรสูง
- ใช้เงินทุนเริ่มต้นเพียงเล็กน้อย
- สามารถลงทุนโดยการกู้ยืมได้ (Leverage)
- ป้องกันความเสี่ยงจากสินทรัพย์อื่น ๆ
ข้อเสีย
- ขาดทุนได้ไม่จำกัด
- จำเป็นต้องมีบัญชีมาร์จิ้น
- ต้องจ่ายดอกเบี้ยมาร์จิ้น
- ราคาหุ้นอาจสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว (Short Squeeze)
ติดตามช่องทางสำหรับรับข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติม ได้ที่
- รับลิงก์
- X
- อีเมล
- แอปอื่นๆ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น