จีนเดียวมีจริงไหม? ย้อนดูประวัติศาสตร์ฮ่องกง-ไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่ ในความสัมพันธ์ 3 เส้า
ไต้หวันเป็นของจีน ฮ่องกงก็เป็นของจีน แต่ฮ่องกงบอกตนเองเป็นชาวฮ่องกง ไม่ใช่ชาวจีน ขณะที่ไต้หวันก็บอกว่าตัวเองเป็นประเทศ เป็นชาวไต้หวัน มีรัฐบาลของตัวเอง และมีประชาธิปไตย แต่จีนก็ยืนยันว่าทั้งหมดคือจีนเดียวกัน!
นโยบายจีนเดียวนั้น ยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่เสมอ และเมื่อไม่กี่วันนี้ ท่ามกลางกระแสของชาวทวิตเตอร์ไทยและจีน ก็ยังได้ถกเถียงกันถึงเรื่องนี้เช่นกันว่า ฮ่องกง และไต้หวัน เกาะไหนเป็นของใคร มีอำนาจปกครองตัวเองไหม หรือเป็นส่วนหนึ่งของจีน ภายใต้รัฐบาลจีนเดียว จนกลายเป็นวิวาทะเถียงกันอย่างไม่จบ
The MATTER ขอพาไปดูประวัติศาสตร์ของทั้งฮ่องกง และไต้หวัน ในความสัมพันธ์ 3 เส้านี้ว่าทั้ง 3 ดินแดน เคยถูกปกครองและเป็นของใคร และในตอนนี้เป็นจีนเดียวกันจริงไหม ?
ฮ่องกง – ยุคก่อนสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน
จีนเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ และมีประวัติศาสตร์มายาวนาน โดยถูกสืบทอดและปกครองมาด้วยหลายราชวงศ์ กับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ถ้าจะเล่าประวัติศาสตร์ของจีน ฮ่องกง และไต้หวันนั้น เรียกได้ว่าจุดเริ่มต้นอยู่ในสมัยราชวงศ์ชิง ราชวงศ์สุดท้ายของประเทศ
ในช่วงราชวงศ์ชิง ประเทศจีนพบกับปัญหาภายในต่างๆ ประชากรอดอยาก ยากจน มีวิกฤตจากการต่อสู้กับการยึดครองของอาณานิคมต่างๆ สงครามโลก การเข้ามาของระบอบคอมมิวนิสต์ และความอ่อนแอของราชวงศ์ ซึ่งช่วงศตวรรษ 1839-1949 ถูกเรียกว่าเป็น 100 กว่าปีที่ประเทศอ่อนแอ ถูกยึดครอง และถูกประเทศมหาอำนาจตะวันตกบีบด้วยผลประโยชน์ต่างๆ ซึ่งในช่วงนี้เอง ไต้หวัน และฮ่องกงเอง ก็เป็นถูกใช้เป็นดินแดนที่ประเทศอาณานิคมเข้ามายึดครอง
ในประวัติศาสตร์ ฮ่องกงเป็นเกาะเล็กๆ และชุมชนประมง เป็นส่วนหนึ่งของเสินเจิ้น แต่ช่วงความขัดแย้งของสงครามฝิ่นระหว่างจีนและอังกฤษ ในปี 1841 อังกฤษได้เริ่มเข้ามายึดฮ่องกง จากความต้องการเมืองท่าส่งสินค้าและฝิ่น ซึ่งหลังจากที่จีนแพ้สงครามครั้งนี้ ทำให้ต้องยกฮ่องกงให้อังกฤษตามสนธิสัญญานานกิง
หลังจากนั้นในช่วงสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 จีนยังสูญเสียบริเวณเกาลูน และต่อมาอังกฤษยังได้บีบบังคับจีนให้ทำข้อตกลงปักกิ่งที่ 2 โดยให้อังกฤษเช่าดินแดนทั้งหมด 99 ปี ซึ่งขยายอาณานิคมไปถึงดินแดนนิวเทร์ริทอรีส์เลยด้วย จึงทำให้ฮ่องกงถูกปกครองในฐานะอาณานิคมแห่งหนึ่งของอังกฤษตั้งแต่นั้นมา แม้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างปี 1941-1945 จะถูกการกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นปกครอง แต่ก็กลับมาเป็นของอังกฤษอีกครั้ง หลังญี่ปุ่นแพ้สงคราม
ฮ่องกง – ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ฮ่องกงถูกอังกฤษปกครอง โดยการส่งข้าราชการจากส่วนกลาง อังกฤษเองมีการวางรากฐานการศึกษา ผังเมือง และพัฒนาฮ่องกงในด้านต่าง ซึ่งในช่วงหลังที่พรรคคอมมิวนิสต์ นำโดยเหมา เจ๋อตงสถาปนาสาธารณะรัฐประชาชนจีน ได้มีชาวจีนอพยพจากแผ่นดินใหญ่เข้ามาตั้งรกรากในฮ่องกงจำนวนมาก จนประชากรเพิ่มขึ้นจาก 6 แสน เป็น 2.5 ล้านในปี 1956 และหลังจากนั้น ฮ่องกงได้กลายเป็นเมืองท่า และศูนย์กลางเศรษฐกิจ และการเงินที่สำคัญแห่งหนึ่งในเอเชีย
อังกฤษปกครองฮ่องกงด้วยการรวมศูนย์อำนาจ แต่เมื่อมีความพยายามกระจายอำนาจ หรือให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นเล็กๆ มักสร้างความไม่พอใจให้กับจีน ที่มองว่าอังกฤษจะสอนประชาธิปไตย และให้ฮ่องกงได้ปกครองตนเอง จนกระทั่งยุคของผู้นำรุ่นที่ 2 ของจีน อย่างเติ้ง เสี่ยวผิง ขึ้นมานำจีน และมีนโยบายเปิดประเทศ เติ้งได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนที่ต้องการทวงคืนฮ่องกงจากอังกฤษหลังครบสัญญาเช่า 99 ปี
ด้านอังกฤษ ในยุคของนายกฯ มาร์กาเร็ต แท็ตเชอร์เอง ก็เคยขอเจรจาเพื่อขอเช่าฮ่องกงต่อกับเติ้ง เสี่ยวผิง แต่ถูกปฏิเสธ แต่ทั้งคู่ก็มีการลงนาม และเซ็นสัญญาในการยอมคืนเกาะฮ่องกงตามสัญญาเช่า ในปี 1984 แต่จีนเองก็จะยอมให้ฮ่องกงมีสถานะพิเศษ สามารถปกครองตนเองได้ ในชื่อเรียก ‘เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน’ ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรีต่อไปได้อีกเป็นเวลา 50 ปี ตามนโยบาย ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ ของรัฐบาลปักกิ่ง ก่อนจะมีพิธีคืนเกาะฮ่องกงในวันที่ 1 กรกฎาคม ปี 1997 ซึ่งถือเป็นการกลับสู่การปกครองของจีนอย่างเป็นทางการ หลังปกครองโดยอังกฤษมากว่า 150 ปี
ฮ่องกง – ยุคศตวรรษที่ 21
หลังอังกฤษคืนเกาะฮ่องกงแล้ว ชาวฮ่องกงเองต่างแสดงให้เห็นถึงความต้องการประชาธิปไตย ทั้งจากการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 1998 ที่ผู้สมัครฝั่งประชาธิปไตยได้รับคะแนนเสียงเกิน 65% แต่ถึงอย่างนั้นกฎหมายของจีนเองก็กำหนดไว้ว่า ไม่ให้ฝ่ายประชาธิปไตยสามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้
และในวันที่ 1 กรกฎาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันครบรอบการคืนเกาะสู่จีน ชาวฮ่องกงจำนวนหนึ่งจะออกมาเดินขบวนเพื่อเรียกประชาธิปไตยในฮ่องกง จนกระทั่งในปี 2003 เกิดการชุมนุมใหญ่ ที่มีชาวฮ่องกงมารวมตัวกันกว่า 5 แสนคน เพื่อต่อต้านการออกร่างกฎหมายด้านความมั่นคงที่เข้มงวดขึ้น ที่ออกมาเพื่อต่อต้านการบ่อนทำลายรัฐบาล ซึ่งทำให้ชาวฮ่องกงกลัวว่าร่างกฎหมายนี้ จะทำให้พวกเขาสูญเสียเสรีภาพทางการแสดงออกไป จนสุดท้ายร่างหมายฉบับนี้ก็ถูกถอนไป แต่หลังจากเหตุการณ์นี้ ทุกๆ ปีก็มีประชาชนออกมาชุมนุมในวันที่ 1 กรกฎามากขึ้นเรื่อยๆ
จนกระทั่งการชุมนุมในปี 2014 ที่เป็นที่รู้จักในการปฏิวัติร่ม ที่ประชาชนออกมาชุมนุมเรียกร้องสิทธิในการเลือกผู้นำของตัวเองและปักหลักอยู่กลางถนนหลายสัปดาห์ ก่อนจะต้องจบการชุมนุมไปโดยไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย แต่ถึงอย่างนั้นความพยายามและการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก็ยังคงเห็นอยู่ต่อเนื่อง แต่ก็มักมีการแทรกแซงจากปักกิ่ง ไม่ว่าจะเป็นกรณีการถูกอุ้มหายของเจ้าของร้านหนังสือ ที่คาดการณ์ว่าขายหนังสือที่โจมตีจีนแผ่นดินใหญ่ และสนับสนุนประชาธิปไตย ไปถึงพรรคการเมือง และนักการเมืองที่โดนตัดสิทธิสมาชิกสภานิติบัญญัติในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลังปฏิเสธที่จะปฏิญาณตนว่าภักดีต่อจีน
มาถึงการชุมนุมใหญ่ในปี 2019 ซึ่งเริ่มจากการต่อต้านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ที่มีประชาชนออกมามากกว่าล้านคน และยกระดับกลายเป็นการปะทะรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่ และประชาชน ซึ่งยังลากยาวต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ก็ยังแสดงให้เห็นถึงการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย ไปจนกลุ่มคนรุ่นใหม่บางส่วนที่เรียกร้องเอกราช และขอแยกตัวจากจีนเลยด้วย แม้ว่าจีนจะพยายามยืนยันในการใช้นโยบาย 1 ประเทศ 2 ระบบ ก็ตาม
ไต้หวัน – ยุคก่อนสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน
ในขณะที่ไต้หวันเอง เดิมทีเป็นเกาะที่มีชนพื้นเมืองอาศัยอยู่ แต่ก็มีการติดต่อ ไปมาหาสู่ระหว่างชาวจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านจากราชวงศ์หมิง มาเป็นราชวงศ์ชิง ขุนศึกหมิงได้เดินทางหนีมายังไต้หวัน ตั้งราชอาณาจักรตงหนิง เพื่อหวังจะโค่นราชวงศ์ชิง และฟื้นราชวงศ์หมิงขึ้นมาอีกครั้ง แต่สุดท้ายก็ถูกราชวงศ์ชิงปราบปราม จนไต้หวันกลายมาเป็นหนึ่งในมณฑลหนึ่งของจีน
แต่แล้วไต้หวันก็ถูกยกให้เป็นอาณานิคมของประเทศอื่นอีกเช่นกัน ภายใต้สนธิสัญญาชิโมโนเซกิ หรือสนธิสัญญาหม่ากวน หลังจากจีนพ่ายแพ้ให้กับญี่ปุ่น ในสงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 1 ที่ ซึ่งนอกจากไต้หวันแล้ว จีนยังต้องยกคาบสมุทรเหลียวตง และหมู่เกาะเผิงหู รวมถึงยอมรับอำนาจญี่ปุ่นเหนือเกาหลี เป็นต้น
ไต้หวัน – ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
หลังจากสงครามโลก ครั้งที่ 2 ไต้หวันก็ถูกปลดแอกจากการเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นมายาวนานถึง 50 ปี ซึ่งใน ในปี 1949 พรรคก๊กมินตั๋ง นำโดยนายพล เจียง ไคเช็ก ได้พ่ายแพ้ให้กับพรรคคอมมิวนิสต์ พวกเขาได้ตัดสินใจอพยพจากแผ่นดินใหญ่ มายังไต้หวัน โดยยังมีประชาชนกว่า 1.5 ล้านคน ที่อพยพตามมาด้วย
ระหว่างนั้นก๊กมินตั๋งเองก็หวังจะย้ายมาไต้หวันเพื่อตั้งต้น และวางแผนเพื่อกลับไปเอาชนะพรรคคอมมิวนิสต์อีกครั้ง ภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐฯ ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์เองก็หวังจะบุกไต้หวันต่อไป ซึ่งสุดท้ายก็ไม่เกิดการปะทะระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย แต่กลายเป็นการแย่งชิงการได้รับความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศอื่นๆ แทน โดยในช่วงแรกนั้น ที่การปกครองแบบคอมมิวนิสต์ไม่ได้รับการยอมรับ ขณะที่ไต้หวันนำโดยก๊กมินตั๋งได้รับการยอมรับว่าเป็นจีน ด้วยการสนับสนุนจากตะวันตก และมีการสถานปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับนานาชาติ รวมถึงยังมีที่นั่งในองค์การสหประชาชาติในฐานะรัฐบาลตัวแทนของประเทศจีนที่ถูกต้อง จนถึงปี ค.ศ. 1971
ช่วงทศวรรษที่ 1970 ประเทศต่างๆ นำโดยสหรัฐฯ เริ่มตัดความสัมพันธ์กับไต้หวัน ยอมรับหลักการจีนเดียวว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน จากความขัดแย้งในช่วงสงครามเย็น สหรัฐฯ จึงต้องการจีนเพื่อคานอำนาจกับโซเวียต ทำให้นอกจากสหรัฐฯ แล้ว ประเทศพันธมิตรอื่นๆ ของสหรัฐ อย่างญี่ปุ่น รวมถึงไทยเอง ต่างก็ทยอยตัดความสัมพันธ์กับไต้หวันตามมาด้วย
ด้านการเมืองภายในไต้หวัน ในปี 1996 ไต้หวันได้เข้าสู่ระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง ซึ่งถือเป็นจุดปฎิรูปประชาธิปไตย ที่ทำให้พรรคอื่นๆ นอกจากก๊กมินตั๋ง เข้ามามีบทบาทบริหารไต้หวันด้วย ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนั้น หลี่ เติงฮุย ผู้เคลื่อนไหวสนับสนุนให้ไต้หวันเป็นเอกราชเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง สร้างความไม่พอใจให้แก่รัฐบาลปักกิ่งเป็นอย่างมาก
หลังจากนั้นเอง ประเด็นของไต้หวัน และความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นการค้าขายอาวุธระหว่างกัน การเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ ของหลี่ หรือการรับความช่วยเหลือต่างๆ จากนานาชาติ ก็มักเป็นตัวจุดประกาย และสร้างความไม่พอใจให้กับปักกิ่งอยู่ต่อเนื่องด้วย ท่ามกลางการยืนยันของจีนว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน
ไต้หวัน – ยุคศตวรรษที่ 21
ปัจจุบัน มีเพียง 15 ประเทศทั่วโลกที่รับรองไต้หวันว่าเป็นจีนที่แท้จริง ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ก็ยังคงมีการปะทะให้เห็นเรื่อยๆ ซึ่งในการเมืองภายในของไต้หวัน หลังจากมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีทางตรงแล้ว พรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งปัจจุบัน เน้นนโยบายเป็นมิตรกับรัฐบาลปักกิ่ง และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ซึ่งสนับสนุนความเป็นประชาธิปไตย ไปจนถึงบางส่วนที่ปฏิเสธการรวมไต้หวันกับจีน ต่างก็ผลัดกันชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี
จนกระทั่งปี 2016 ไช่ อิงเหวิน จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า เอาชนะก๊กมินตั๋ง เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรก และครองตำแหน่งไว้ได้อีกครั้งในการเลือกตั้งเมื่อต้นปี 2020 ที่ผ่านมา ซึ่งไช่เอง ก็ชูนโยบายคงสถานะของประเทศไต้หวันไว้ ยินดีมีความสัมพันธ์กับจีน หากจีนเคารพอธิปไตย และการเลือกตั้งของไต้หวัน รวมถึงเธอยังมีท่าทีสนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลจีนในฮ่องกง ทำให้ช่วงที่ผ่านมานั้น ความสัมพันธ์ของจีน และไต้หวัน ยังมีความระหองระแหงระหว่างกัน
ซึ่งในการแก้ไขปัญหาโรคระบาด COVID-19 ที่ผ่านมา ก็แสดงให้เห็นถึงการเมืองระหว่างจีน และไต้หวัน ที่ทางไต้หวัน ระบุว่าได้เตือนไปยัง WHO ถึงโรคระบาดนี้ตั้งแต่ปลายปี 2019 แต่ไม่ได้รับความสนใจ ซึ่งจีนก็ออกมาบอกให้หลายๆ ประเทศยอมรับการติดสินใจของ WHO รวมถึงยังคัดค้านกระแสสนับสนุนที่ต้องการให้ไต้หวันร่วมประชุม WHO โดยอ้างถึงนโยบายจีนเดียว ทั้งยังโต้ตอบไต้หวันว่า อย่าทำให้เกิดเป็นประเด็นทางการเมืองขึ้นด้วย
อนาคตของฮ่องกง และไต้หวัน ภายใต้นโยบายจีนเดียว
แม้ว่าไต้หวันเองจะมีการปกครอง รัฐธรรมนูญ รวมถึงการเลือกตั้งที่แตกต่างจากจีน และฮ่องกงเอง จะมีการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยมาโดยตลอด ตั้งแต่มีการคืนเกาะ แต่นโยบาย ‘จีนเดียว’ ของจีน ก็เรียกได้ว่ายังคงเป็นนโยบายสำคัญ รวมถึงความพยายามสร้างเอกภาพในดินแดนอื่นๆ ของจีนด้วย
ซึ่งสำหรับฮ่องกงนั้น การชุมนุมที่ลากยาวมาตั้งแต่ปี 2019 ถือว่ายังไม่ยุติดี แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัสที่เกิดขึ้น ทำให้การรวมกลุ่มชุมนุมหายไป แต่ถึงในระยะเวลาอีก 28 ปี ภายใต้สัญญา 1 ประเทศ 2 ระบบ ก่อนที่จะต้องรวมกับจีน คาดว่าเราคงจะเห็นการต่อสู่ของชาวฮ่องกง ที่ออกมารวมกลุ่ม เรียกร้องเอกราช ไปถึงอาจเกิดการปะทะรุนแรงอีกครั้งก็เป็นได้
แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีการคาดการณ์ว่าเป็นไปได้ยาก จนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่จีนจะยอมให้เอกราชแก่ฮ่องกง เพราะอาจเกิดการเรียกร้องจากดินแดนอื่นๆ ที่เป็นข้อพิพาทกับจีนอยู่ ไม่ว่าจะทิเบต หรือซินเจียง ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงและเอกภาพของจีน รวมไปถึงมีการมองว่า ถ้าจีนพัฒนาความเป็นอยู่ และเศรษฐกิจในฮ่องกงให้ดี แก้ปัญหาความยากจนและเหลื่อมล้ำได้ ความต้องการเรื่องประชาธิปไตยก็อาจจะลดลงไปด้วยก็เป็นได้
ด้านไต้หวันเองก็ยังคงยืนหยักหนักแน่นว่าพวกเขาไม่ใช่จีน และคนรุ่นใหม่เองก็มีแนวโน้มที่จะต่อต้านนโยบายจีนเดียวมากขึ้น เรื่อยๆ ทั้งจากโพลล์ในไต้หวันเอง ยังพบว่าชาวไต้หวันมีความรู้สึกว่าตนเป็นชาวจีนน้อยลง และโพลล์ล่าสุด ยังพบว่า ในปี 2020 นี้ ชาวไต้หวันมองว่ารัฐบาลจีนไม่เป็นมิตรต่อรัฐบาล เพิ่มขึ้นถึง 76.6 % และต่อชาวไต้หวันเพิ่มขึ้นมา 61.5% ซึ่งเป็นตัวเลขทีเพิ่มสูงขึ้นที่สุดในรอบ 10 ปีเลยด้วย
แต่ถึงอย่างนั้นก็เหลือประเทศที่รองรับในปัจจุบันเพียงแค่ 15 ประเทศ และระยะหลังก็มีประเทศที่ตัดสัมพันธ์กับไต้หวันอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นความท้าทายของไต้หวันในอนาคตคือการรักษาสถานะของไต้หวันไว้ดังเดิมให้ได้
ดังนั้น การถกเถียงเรื่องจีนเดียว ระหว่างจีน ฮ่องกง และไต้หวัน ก็จะยังคงเป็นประเด็นให้ติดตามต่อไป ซึ่งปัจจุบัน ในฮ่องกง และไต้หวันเองก็ยังมีการต่อสู้เพื่อปกครองตนเองอยู่ต่อเนื่อง ขณะที่จีนเองก็ไม่มีทีท่าจะยอมผ่อนปรน หรือยอมประกาศเอกราชให้ทั้งคู่ แต่กลับหนักแน่นในนโยบายจีนเดียว
อ้างอิงจาก
Illustration by Waragorn Keeranan
ที่มา : https://thematter.co/social/history-of-taiwan-and-hongkong/108244
- รับลิงก์
- X
- อีเมล
- แอปอื่นๆ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น